วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประติมากรรมฝีพระหัตถ์



ประติมากรรมฝีพระหัตถ์
ศิลปกรรมสาขาประติมากรรมเป็นสาขาหนึ่งของวิจิตรศิลป์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงออกถึงพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้านนี้ด้วย ความสนพระราชหฤทัยยิ่ง พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการต่างๆ ในงานประติมากรรมด้วยพระองค์เองทั้งการปั้น การหล่อ และการทำแม่พิมพ ์
อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม และเคยเป็นประติมากรที่ทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ได้เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถึงการทำงานและเทคนิควิธีการของการทำแม่พิมพ์ การปั้น และทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงกระบวนการและขั้นตอนของงานทางด้านนี้เป็นอย่างดี โดยทรงศึกษาจากหนังสือทางด้านศิลปะ และทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง
งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) เก็บรักษาไว้ในตู้บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มี ๒ ชิ้น คือ
ชิ้นที่ ๑ ได้แก่ รูปปั้นผู้หญิงเปลือยนั่งคุกเข่า ความสูง ๙ นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมันชิ้นที่ ๒ ได้แก่ พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง ๑๒ นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน และต่อมาอาจารย์ไพฑูรย์ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำแม่พิมพ์หล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ ประติมากรรมฝีพระหัตถ์ชิ้นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดท่าทางและองค์ประกอบที่มีความประสานกลมกลืนอย่างงดงาม สะท้อนคุณค่าของความสง่างาม ทรงทิ้งร่องรอยฝีพระหัตถ์ที่มีชีวิตมีการเคลื่อนไหวไว้บนผิวดินน้ำมันที่ทรงปั้น
นอกจากประติมากรรมดังกล่าวแล้ว พระองค์ยังสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูปอีกด้วย ในเดือนมีนาคม ๒๕๐๘ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ซึ่งสร้างขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ โดยมีพระราชประสงค์ให้ดัดแปลงแก้ไขพระพุทธลักษณะจากการสร้างครั้งที่ ๑ ของวัดเทวสังฆรามจังหวัดกาญจนบุรี ในครั้งนี้ทรงมีแนวพระราชดำริแก่ช่างปั้นว่า พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ควรมีลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ และให้ดูมีพระเมตตา ใครที่ชมพระพุทธรูปองค์นี้ถ้ามีจิตใจอ่อนไหวก็ให้รู้สึกเข้มแข็งขึ้นและมีความรู้สึกสงบเยือกเย็นสุขุมดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ จึงได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบพระพุทธรูปให้ดูงดงามเหมาะสมตามพระพุทธลักษณะยิ่งขึ้น ส่วนฐานของพระพุทธรูปเป็นกลีบบัว ใต้กลีบบัวเป็นขาสิงห์ ที่ผ้าทิพย์ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และที่ฐานรองพุทธบัลลังก์ ก็อักษรบาลีจารึกไว้ว่า “ทยฺยชาติยา สามคฺคิย สติสญฺชานเนน โภชิสิย รกฺขนฺติ” ในบรรทัดถัดลงมาเป็นอักษรไทยจารึกไว้ว่า “คนไทยจะรักษาความเป็นไทอยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี” โปรดให้หล่อขึ้น ๒ ขนาด คือ ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว และ ๕ นิ้ว ในการนี้ทรงควบคุมดูแลการปั้นและการหล่ออย่างใกล้ชิดโดยตลอด และมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนเช่าไว้เพื่อสักการะบูชา
ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ ได้มีพระราชดำริในการสร้างพระพิมพ์ส่วนพระองค์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้แกะแบบแม่พิมพ์ด้วยหินลับมีดโกนแล้วหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ ต่อจากนั้นทำแม่พิมพ์ด้วยขี้ผึ้งจากรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ แล้วทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามวิธีส่วนพระองค์ด้วยพระองค์เองจนสำเร็จเป็นองค์พระพิมพ์ ในภายหลังได้เปลี่ยนจากแม่พิมพ์ขี้ผึ้งเป็นแม่พิมพ์ยาง ทำให้สามารถหล่อพระพิมพ์ได้หลายๆ ครั้งทรงหล่อพระพิมพ์ส่วนพระองค์ด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นี้เป็นจำนวนมาก โดยมีพระราชประสงค์เพื่อจะทรงบรรจุไว้ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าขององค์พระพุทธบาทนวราชบพิตรด้วยพระองค์เอง และพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและบุคคลอื่นๆ ไว้เพื่อสักการะบูชา โดยให้ผู้รับพระราชทานนำไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์และให้พระบรมราโชวาทโดยสรุปว่า “ให้ทำดีเหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระพิมพ์”พระพิมพ์ส่วนพระองค์นี้ต่อมาเรียกขานกันว่า หลวงพ่อจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน ผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ทรงใช้ในการหล่อประกอบด้วย
๑. ผงศักดิ์สิทธิ์ส่วนในพระองค์ ซึ่งได้มาจาก- ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฏิมากรตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้- เส้นพระเจ้าซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง (เส้นพระเจ้าหมายถึง เส้นผม และทรงพระเครื่องใหญ่ หมายถึง ตัดผม)- ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล- สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนเป็นภาพฝีพระหัตถ์- ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่งขณะทื่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง
๒. ผงศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักรวัตถุเครื่องผสมจากต่างจังหวัดนี้ กระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นวัตถุที่ได้จากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด อันได้แก่ ดิน หรือตะไคร่น้ำแห้ง จากปูชนียสถาน ทองคำเปลวปิดพระพุทธรูปผงธูปหน้าที่บูชา น้ำจากบ่ออันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเดือนตุลาคม ๒๕๐๘ ได้มีพระราชประสงค์ที่จะทรงทดลองหล่อพระเศียรพระพุทธรูปด้วยพระองค์เองจากแบบพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแม่พิมพ์ถวายแล้วทรงหล่อโดยใช้ผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในครั้งนี้ทรงหล่อจากพระเศียรต่ำลงมาถึงพระอุระ เมื่อทรงหล่อเสร็จแล้วได้มีพระราชกระแสรับสั่งที่จะทรงหล่อท่อนล่างต่อให้ครบองค์ โดยมีพระราชประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงพระกรพระหัตถ์ด้านขวาซึ่งหงายให้คว่ำลงเป็นแบบปางมารวิชัยหรือสะดุ้งมาร ส่วนฐานตอนล่างโปรดเกล้าฯ ให้เป็นฐานเขียงเรียบๆในการทำแม่พิมพ์ท่อนล่างนี้พบว่ามีความยากลำบากในการต่อพระกร และองค์พระท่อนบนเข้ากับท่อนล่าง ทรงนำพระท่อนบนที่หล่อครึ่งองค์ไว้แล้วนั้นไปตัดออกแล้วทรงต่อกับท่อนล่างที่ทรงหล่อภายหลัง จนเข้าด้วยกันทั้งองค์อย่างเรียบร้อยงดงาม ในเดือนมกราคม ๒๕๐๙ ได้ทรงหล่อพระปางมารวิชัยทั้งองค์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยมีฐานขององค์พระพุทธรูปเป็นฐานเขียง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ฐานองค์พระพุทธรุปเป็นกลีบบัวมีขนาดพอที่จะทรงบรรจุพรพิมพ์ส่วนพระองค์ได้ และในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๐๙ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อหล่อพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก๙ นิ้ว มีฐานเป็นกลีบบัว ทรงบรรจุพระพิมพ์ส่วนพระองค์ไว้ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าขององค์พระพุทธรูปด้วย โปรดเกล้าฯ ให้หล่อเป็นจำนวน ๑๐๐ องค์ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อพระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และได้โปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระพุทธรูปนั้นว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” พระพุทธนวราชบพิตรนี้ได้พระราชทานให้จังหวัดต่างๆ เช่น หนองคาย อุดรธานี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น นอกจากนี้พระราชทานให้กับหน่วยทหารที่ไปปฏิบัติราชการ ณ ประเทศเวียดนาม พระพุทธรูปองค์นี้จะเป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป และเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตราธิราชกับบรรดาพสกนิกรของพระองค์ในทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร และพระพิมพ์ส่วนพระองค์ซึ่งได้บรรจุไว้ที่ฐานบัวหงายนั้น ก็มีส่วนประกอบของวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพระองค์ด้วย พระพุทธนวราชบพิตรจึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งในรัชกาลปัจจุบันซึ่งศาสนิกชนทั่วพระราชอาณาจักรได้ปฏิบัติบูชาสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ในระยะหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชภารกิจมาก ไม่มีเวลาที่จะทรงสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมให้เป็นที่ปรากฏอีก แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานฝีพระหัตถ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะและพระปรีชาสามารถทางด้านประติมากรรมอย่างชัดแจ้ง






ประวัติประติมากรรม


ประติมากรรมไทยส่วนใหญ่ มีจุดประสงค์ในการสร้างขึ้น ด้วยศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธรูป ในสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปั้น หล่อ หรือแกะสลัก อีกส่วนหนึ่งสำหรับใช้เป็นเครื่องประกอบ ตกแต่งปราสาทราชวังและเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับพระมหากษัตริย์
ประติมากรรมไทยแบ่งได้เป็นสาม ลักษณะใหญ่ๆ คือ

2.1 ลักษณะนูนต่ำ (Bas Relief) คือผลงานที่มองได้ด้านเดียว แสดงความตื้นลึกของภาพ โดยมีความสูงต่ำ เพียงเล็กน้อย เช่น ลวดลายปูนปั้นบนสถูป และลายแกะสลักต่างๆ เป็นต้น

2.2 ลักษณะนูนสูง (High Relief) สามารถมองเห็นได้ 3 ด้าน คือด้านหน้า และด้านข้างอีก ๒ ด้าน โดยมีความตื้นลึกที่แตกต่างกันมาก จนเห็นได้ชัดเจน เช่น ลายปูนปั้นบนหน้าบัน

2.3 ลักษณะลอยตัว (Round Relief) สามารถมองเห็นได้รอบด้าน เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ต่างๆ รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาด้วย

ประติมากรรมสมัยสุโขทัย เริ่มตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ. 1800-1918 เมืองสำคัญทางศิลปสมัยสุโขทัยมีเมืองสุโขทัย เก่า กำแพงเพชร และศรีสัชนาลัยปรากฏโบราณสถานใหญ่โต มีศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก ชาวสุโขทัยนับถือพุทธศาสนายุคแรกตามแบบสมัยลพบุรี คือ พุทธศาสนาแบบมหายาน ภายหลังพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แพร่ขยายเข้ามาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง วัสดุที่นำมาสร้างประติมากรรมมี ปูนเพชร ดินเผา ไม้ โลหะสำริด และทองคำ

แบบอย่างของประติมากรรมสมัยสุโขทัยแบ่งเป็น 4 ยุค คือ

ยุคที่ 1 ประติมากรรมยุคนี้ยังแสดงอิทธิพลของศิลปะลพบุรีที่เห็นได้ชัด คือ ภาพปูนปั้นลวดลายประดับประตูรั้วทางเข้าองค์ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้มีแบบเฉพาะเป็นของตนเองที่เรียกกันว่า "แบบวัดตระกวน" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมผสานกัน พระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นแบบลังกา พระวรกายและชายสังฆาฏิสั้นแบบเชียงแสน

ยุคที่ 2 ในยุคนี้ฝีมือการสร้างประติมากรรมของช่างไทยเชี่ยวชาญขึ้น พัฒนารูปแบบการสร้างพระพุทธรูปจนก่อเกิดรูปพุทธลักษณะอันงดงามของสกุลช่างสุโขทัยเอง ยังเป็นศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ ในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้มากมายตั้งแต่พระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระอัฏฐารส พระอัจนะ จนถึงพระบูชาขนาดเล็ก และพระพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปนูนต่ำนูนสูงประดับภายในซุ้มมณฑปหรือพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก สมดังศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม " พระพุทธรูปสุโขทัยไม่นิยมสลักหิน แม้จะเป็นพระพุทธรูปขนาดสลักหิน นิยมปั้นด้วยปูนหรือหล่อด้วยโลหะมีค่าต่างๆ รวมทั้งทองคำบริสุทธิ์ ลักษณะพระพุทธรูปสุโขทัยยุคนี้ คือ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระเศียรสมส่วนกับพระศอและพระอังสา หมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอุระผายสง่า พระอังสาใหญ่กว้าง พระถันโปน ปั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวจรดมาถึงพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระกรเรียวดุจงาช้าง นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาททำแบบธรรามชาติ ดุจมีชีวิต ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง ปางที่นิยมคือ ปางมารวิชัย และปางลีลา องค์พระพุทธรูปปางลีลาที่งดงามปัจจุบันประดิษฐานที่ระเบียงคด วัดเบญจมบพิตร

ยุคที่ 3 การปั้นพระพุทธรูปยุคนี้พัฒนาไปจากศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ มีความประณีต มีระเบียบและกฎเกณฑ์มากขึ้น พระรัศมีเป็นเปลวมีขนาดใหญ่ขึ้น พระพักตร์รูปไข่สั้น พระอุณาโลมเป็นตัวอุหงายระหว่างหัวพระขนง พระวรกายมีความอ่อนไหวน้อยลง พระอาการสงบเสงี่ยมแลดูนิ่งสงบขึ้น พระกรยาว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่เสมอกัน ฝ่าพระบาทเรียบสั้น พระบาทยาว พระพุทธรูปที่สำคัญๆ ในยุคนี้ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระศรีศากยมุนี เป็นต้น

ยุคที่ 4 เป็นยุคที่ประติมากรรมสมัยสุโขทัยถูกกลืนไปกับอิทธิพลของศิลปสมัยอยุธยาเมื่อราชวงศ์พระร่วงสิ้นสุดลงในพ.ศ. 1981 นับเป็นยุคสุโขทัยเสื่อม แม้มีการสร้างศิลปะในชั้นหลังก็เป็นสกุลศิลปะเล็กๆ พระพุทธรูปมีลักษณะกระด้างขึ้นทั้งอิริยาบท และทรวดทรง มักสร้างพระพุทธรูปยืน พระสำคัญในยุคนี้เช่น พระอัฎฐารส วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแบ่งแบบอย่างพระพุทธรูปซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง มักทำดวงพระพักตร์กลมตามแบบพระพุทธรูปลังกา เช่น พระอัฏฐารสในวิหารวัดสระเกศ กลุ่มที่สอง เมื่อฝีมือช่างเชี่ยวชาญขึ้นคิดแบบใหม่ ทำดวงพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม เช่นพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเชิญไปไว้ที่พระปฐมเจดีย์ และพระสุรภีพุทธพิมพ์ที่เป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดปรินายก พระพุทธรูปที่สร้างแบบนี้มีมากกว่ากลุ่มแรก กลุ่มที่สามสันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาพญาลิไทย ซึ่งในตำนานกล่าวว่า ทรงเป็นพระราชธุระบำรุงกิจในพระศาสนายิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ โปรดให้เสาะหาช่างที่มีฝีมือดีทั้งในอาณาเขตลานนาและอาณาเขตข้างฝ่ายใต้มาประชุมปรึกษากัน และทรงสอบสวนหาหลักฐานพุทธลักษณะในคัมภีร์พระไตรปิฎกประกอบ จึงเกิดแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ดวงพระพักตร์เป็นทำนองผลมะตูมคล้ายแบบอินเดียเดิมแต่งามยิ่งนัก และแก้พุทธลักษณะแห่งอื่น เช่น ทำปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันทั้งสี่นิ้ว เป็นต้น แบบพระพุทธรูปเช่นนี้ทำกันแพร่หลายขึ้นไปจนถึงเมืองเหนือ และลงมาข้างใต้ แต่ที่ทำได้งามเหมือนองค์พระพุทธรูปที่เป็นต้นตำรามีน้อย




พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ทำในสมัยสุโขทัย ดูเหมือนจะไม่มีทำพระปางอย่างอินเดีย มีปางพุทธอิริยาบท คือ พระนั่ง พระนอน พระยืน พระเดิน พระนั่งทำปางมารวิชัยกับสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบทั้งสองอย่าง พระนอนไม่ถือว่าเป็นปางนิพพานอย่างอินเดีย พระยืนมีแต่ปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ข้างเดียวบ้างสองข้างบ้าง สมมุติเรียกกันว่า ปางห้ามสมุทรและปางห้ามญาติ พระเดินไม่ถือว่าเป็นปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ไม่ทำปางพระกรีดนิ้วพระหัตถ์แสดงเทศนา พระพุทธรูปแบบสุโขทัยทำชายจีวรยาว พระรัศมีเป็นเปลว พระแบบที่สร้างสอลกลุ่มแรกนิ้วพระหัตถ์ไม่เท่ากันทั้งสี่นิ้ว แบบบัวรองพระพุทธรูปเป็นอย่างสุโขทัยไม่เหมือนกับบัวเชียงแสน จากหลักฐานที่พบในเมืองสวรรคโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร ชั้นเดิมสร้างเป็นพระก่อแล้วปั้นประกอบเป็นพื้น มาถึงชั้นกลางและชั้นหลังจึงชอบสร้างพระหล่อ ข้อนี้มีที่สังเกตตามวัดในเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย นอกจากนี้ที่เป็นวัดสำคัญ พระประธานที่เป็นพระปั้นยังอยู่โดยมาก แต่วัดสำคัญในเมืองพิษณุโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร มักไม่มีพระประธานเหลืออยู่ ด้วยเป็นพระหล่อเชิญมาไว้ที่กรุงเทพ ฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์โดยมาก เช่น พระศรีศากยมุนีที่พระวิหารวัดสุทัศน์ พระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศ และพระอัฏฐารส ที่วิหารวัดสระเกศ เป็นต้น พระพิมพ์ก็ชอบสร้างในสมัยสุโขทัยเหมือนสมัยอื่น แต่แปลงมาเป็นพระพุทธรูปตามคติหินยาน ทำต่างพุทธอิริยาบท มักชอบทำพระลีลา เรียกกันสามัญว่า "พระเขย่ง" อีกอย่างหนึ่งก็ทำเป็นพระนั่ง แต่หลาย ๆ สิบองค์ในแผ่นพิมพ์อันหนึ่ง

ในพ.ศ. 2494 หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์และนาย A.B. Griswold ได้แบ่งหมวดหมู่พระพุทธรูปสุโขทัยออกเป็น 5 หมวด คือ
1. หมวดใหญ่ตรงกับหมวดชั้นกลางที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ จัดเป็นแบบที่งามที่สุด
2. หมวดกำแพงเพชร ลักษณะเหมือนหมวดใหญ่ พระพักตร์สอบจากตอนบนลงมาหาตอนล่างมาก พบสร้างมากที่กำแพงเพชร
3. หมวดพระพุทธชินราช ตรงกับหมวดที่สามที่ทรงกล่าว
4. หมวดพิษณุโลกชั้นหลัง ลักษณะทรวดทรงยาว แบบจืดและแข็งกระด้าง จีวรแข็ง มักทำพระยืน เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยชั้นหลัง เมื่อตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาแล้ว
5. หมวดเบ็ดเตล็ด หมายถึงพระพุทธรูปแบบสุโขทัยซึ่งเข้ากับ 4 หมวดข้างต้นไม่ได้ รวมทั้งแบบวัดตระกวนซึ่งมีลักษณะเป็นพระเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมกัน แบบวัดตระกวนนี้อาจจัดเข้าอยู่ในหมวดชั้นแรกซึ่งมีวงพระพักตร์กลม

ต่อมานายกริสโวลด์ ได้แบ่งพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยออกเป็นเพียง 3 หมวดคือ
1. Pre-classic ซึ่งตรงกับหมวดที่ 1 ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
2. High-classic ซึ่งตรงกับหมวดที่สองของสมเด็จ ฯ
3. Post-classic ซึ่งตรงกับหมวดที่สามของสมเด็จ ฯ ในหมวดที่สามนี้นายกริสโวลด์ได้พบพระพุทธรูป 5 องค์ ซึ่งมีจารึกบอกศักราชที่หล่อขึ้น องค์หนึ่งอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี หล่อขึ้นในพ.ศ. 1963 หรือ 1966 อีก 4 องค์อยู่ที่จังหวัดน่านหล่อขึ้นเมื่อพ.ศ. 1970

นอกจากการสร้างพระพุทธรูปแล้วสมัยสุโขทัยยังนิยมทำภาพปูนปั้นเพื่อประกอบงานสถาปัตยกรรมและงานอื่นๆ จำนวนมาก โดยทำขึ้นหลายรูปแบบทั้งสวยงาม แปลกประหลาดและตลกขบขัน ตัวอย่างลวดลายปูนปั้นที่งดงามมีอยู่มากมาย เช่น
ลายปูนปั้นที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองสุโขทัย เป็นเรื่องพุทธประวัติแสดงปางประสูติ ปรินิพพาน
ลายปูนปั้นที่วัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นลายดอกไม้
ลายปูนปั้นที่วัดช้างล้อม อำเภอศรีสัชนาลัย ปั้นเป็นรูปช้างรายรอบฐานพระเจดีย์
ลายปูนปั้นที่วัดตระพังทองหลาง เป็นเรื่องพุทธประวัติแสดงปางเสด็จจากดาวดึงส์

ประเภทของประติมากรรม
















การสร้างงานประติมากรรมไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกออกเป้นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของผลงานที่ปรากฏอยุ่ โดยไม่จำกัดว่าประติมากรรมเหล่านี้จะทำด้วย ปูน หิน ไม้ หรือวัสดุทุกชนิดได้ และมีกรรมวิธีในการสร้างสรรค์อย่างไรก็ได้ แต่คำนึงถึงรูปลักษณะของประติมากรรมเท่านั้น การจำแนกประเภทของประติมากรรมลักษณะนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ประติมากรรมลอยตัว
เป็นประติมากรรมที่ปั้น หล่อ หรือแกะสลักขึ้นเป็นรูปร่างลอยตัวมองได้รอบด้าน ไม่มีพื้นหลัง

2. ประติมากรรมประเภทนูนสูง
เป็นประติมากรรมที่ไม่ลอยตัว มีพื้นหลัง ตัวประติมากรรมจะยื่นออกมาจากพื้นหลังค่อนข้างสูง แต่มีพื้นเป็นฉากหลังประกอบอยู่ ประติมากรรมนี้มักใช้ตกแต่งอาคารสถาปัตยกรรมพุทธศาสนา ฐานอนุสาวรีย์ อาคารทั่วไป เป็นประติมากรรมที่นิยมสร้างขึ้นเพื่อประดับตกแต่งอาคารสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาแต่อดีต

3. ประติมากรรมประเภทนูนต่ำ
เป็นงานประติมากรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประติมากรรมประเภทนูนสูง แต่จะแบนหรือบางกว่า ประติมากรรมประเภทนี้ ไม่ปรากฏมากนักในอดีต ซึ่งมักจะได้แก่ประติมากรรมที่เป็นลวดลายประดับตกแต่ง เช่น แกะสลักด้วยไม้ หิน ปูนปั้น เป็นต้น


ประติมากรรม (Sculpture)

เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการสร้างรูปทรง 3 มิติ มีปริมาตร มีน้ำหนักและกินเนื้อที่ในอากาศ โดยการใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ วัสดุที่ใช้สร้างสรรค์งานประติมากรรม จะเป็นตัวกำหนด วิธีการสร้างผลงาน ความงามของงานประติมากรรม เกิดจากการแสงและเงา ที่ เกิดขึ้นในผลงานการสร้างงานประติมากรรมทำได้ 4 วิธี คือ

1. การปั้น (Casting) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุ ทีเหนียว อ่อนตัว และยึดจับตัว กันได้ดี วัสดุที่นิยมนำมาใช้ปั้น ได้แก่ ดินเหนียว ดินน้ำมัน ปูน แป้ง ขี้ผึ้ง กระดาษ หรือ ขี้เลื่อยผสมกาว เป็นต้น

2. การแกะสลัก (Carving) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุที่ แข็ง เปราะ โดยอาศัย เครื่องมือ วัสดุที่นิยมนำมาแกะ ได้แก่ ไม้ หิน กระจก แก้ว ปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น



3. การหล่อ (Molding) เป็นการสร้างรูปทราง 3 มิติ จากวัสดุที่หลอมตัวได้และกลับแข็ง ตัวได้ โดยอาศัยแม่พิมพ์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลงานที่เหมือนกันทุกประการตั้งแต่ 2 ชิ้น ขึ้นไป วัสดุที่นิยมนำมาใช้หล่อ ได้แก่ โลหะ ปูน แป้ง แก้ว ขี้ผึ้ง ดิน เรซิ่น พลาสติก ฯลฯ รำมะนา (ชิต เหรียญประชา)

4. การประกอบขึ้นรูป (Construction) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ โดยนำวัสดุต่าง ๆ มา ประกอบเข้าด้วยกัน และยึดติดกันด้วยวัสดุต่าง ๆ การเลือกวิธีการสร้างสรรค์งานประติมากรรม ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ต้องการใช้ ประติมากรรม ไม่ว่าจะสร้างขึ้นโดยวิธีใด จะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ แบบนูนต่ำ แบบนูนสูง และแบบลอยตัว ผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรม เรียกว่า ประติมากร

ประเภทของงานประติมากรรม

1.ประติมากรรมแบบนูนต่ำ ( Bas Relief ) เป็นรูปที่เป็นนูนขึ้นมาจากพื้นหรือมีพื้นหลัง รองรับ มองเห็นได้ชัดเจนเพียงด้านเดียว คือด้านหน้า มีความสูงจากพื้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรูป จริง ได้แก่รูปนูนแบบเหรียญ รูปนูนที่ใช้ประดับตกแต่งภาชนะ หรือประดับตกแต่งอาคารทาง สถาปัตยกรรม โบสถ์ วิหารต่างๆ พระเครื่องบางชนิด



2.ประติมากรรมแบบนูนสูง ( High Relief ) เป็นรูปต่าง ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับแบบ นูนต่ำ แต่มีความสูงจากพื้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของรูปจริงขึ้นไป ทำให้เห็นลวดลายที่ลึก ชัดเจน และ และเหมือนจริงมากกว่าแบบนูนต่ำและใช้งานแบบเดียวกับแบบนูนต่ำ



3.ประติมากรรมแบบลอยตัว ( Round Relief ) เป็นรูปต่าง ๆ ที่มองเห็นได้รอบด้านหรือ ตั้งแต่ 4 ด้านขึ้นไป ได้แก่ ภาชนะต่าง ๆ รูปเคารพต่าง ๆ พระพุทธรูป เทวรูป รูปตามคตินิยม รูปบุคคลสำคัญ รูปสัตว์ ฯลฯ


วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550